มุสลิมในประเทศไทยมาจากไหน? (1)

ปฐมบทของเรื่องราวที่อยากฝากไว้ในแผ่นดินนี้ เป็นการเรียบเรียงจากการสืบค้นประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัยที่ไขข้อข้องใจในคำถามที่ ‘มุสลิม ในประเทศไทยมาจากไหน?’ …อัน เป็นคำถามที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอยากรู้ บ้างก็เกิดคำถามนอกจากที่ว่ามาจากไหนแล้ว ยังมาได้อย่างไร และมาตั้งแต่เมื่อไหร่ สืบเชื้อสายมาทางใด ตระกูลใด อยู่ที่ไหนกันบ้าง นั่นคืออีกสารพันคำถามที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยสงสัยใคร่รู้

บทความ นี้จะช่วยหาคำตอบแห่งข้อสงสัยและคำถามทั้งมวล โดยไปค้นหาจากหลายแหล่งที่มาทางประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมในเมืองไทย จากจดหมายเหตุ จากเอกสารเท่าที่มีการค้นพบ จากบุคคลที่มีชีวิตอยู่โดยการสืบสายวงศ์ตระกูล และจากบรรดาท่านผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ นำมาเรียบเรียงไว้ เพื่อให้ผู้อ่านที่แม้จะไม่ใช่มุสลิม หากแต่เป็นคนในศาสนาใดก็ตามในประเทศนี้ จะได้มีโอกาสรู้จักคนมุสลิมมากขึ้น และรับรู้เรื่องราวที่มาที่ไปอันเกี่ยวพันกับคนไทยทุกภาคส่วนที่อยู่ร่วม สังคมเดียวกันมายาวนานมากขึ้น และลึกซึ้งขึ้น นั่นก็เพื่อเป้าหมายคือ ความเข้าใจ เข้าถึง ในความแตกต่างทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมเดียวกันนั่นเอง

นี่ คือสิ่งที่เรา-คนไทยทุกคนพึงสดับรับรู้ และไม่อาจมองข้ามไปดังที่ผ่านๆ มา ไม่แน่ว่า สิ่งเหล่านี้อาจทำให้คนไทยได้รู้จักและเข้าใจกันมากขึ้นก็ได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ภาคใดของประเทศก็ตาม

‘มุสลิม’ หรือที่เรียกกันง่ายๆ สั้นๆ ว่า ‘แขก’ นั้น เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอาศัยในแผ่นดินสุวรรณภูมินับย้อนไปหลายร้อยปี ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีชาวไทย มุสลิมที่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ในประเทศไทย มีถึง 7 ชาติพันธุ์ ได้แก่ มลายู มักกะสัน เปอร์เซีย มะหง่น จาม อาหรับ ตุรกี ซึ่งทั้งหมดมีจำนวนประมาณ 3.4 ล้านคน ของประชากรใน ไทยทั้งหมด บุคคลเหล่านี้คือ ลูก หลาน เหลน โหลน ของบรรพบุรุษมุสลิม ที่ได้ร่วมสร้างบ้านแปงเมืองร่วมกับชาวไทยพุทธ เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ อื่นๆ อย่าง มอญ ลาว เขมร จีน ฯลฯ มาหลายยุคหลายสมัย และมีจำนวนไม่น้อยที่มีโอกาสได้รับราชการในราชสำนัก มีบรรดาศักดิ์ใหญ่โต จนกลายเป็นต้นตระกูลสำคัญๆ หลายตระกูลของเมืองไทย สืบสายทายาทกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

หลาย ปีก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนมณฑลยูนนาน ได้มีโอกาสพบกับชาวมุสลิม ยูน นานที่ทำมาค้าขาย ตั้งรกรากมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษอยู่ในเมืองตาลีฟู – เมืองที่สวยงามทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เขาอนุรักษ์ ไว้อย่างดี มุสลิมในยูนนานทำให้ผู้เขียนนึกถึง เรื่องราวใน ประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่เคยได้ยินได้ฟังมา ว่าบรรพบุรุษของไทยเราก็อพยพมาจากดินแดนยูนนานนี้เช่นกัน (อย่าเหมาเอาว่ามาจากเทือกเขาอัลไตอย่างที่เคยท่องจำกันมาแล้วกัน อันนั้นขอโละทิ้งไปจากความทรงจำของทุกท่านก่อนเถิด!)

อาจารย์ อาลี เสือสมิง ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อิสลาม เขียนบทความเกี่ยวกับการแผ่ขยายศาสนาอิสลามสู่ดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ ( อุษาคเนย์ ) บอกว่า ศาสนาอิสลามแผ่ขยายเข้ามาในอุษาคเนย์ด้วยเส้นทางสายสำคัญ 2 เส้นทางคือ ทางทะเล คือมาจากคาบสมุทรอารเบียตอนใต้ ผ่านมหาสมุทรอินเดีย เข้าสู่หมู่เกาะสุมาตราและชวาตลอดจนเมืองท่าสำคัญในแหลมมลายู ซึ่งเป็นภาคใต้ของสยามประเทศ ส่วนอีกทางคือ ทางบก มาจากดินแดนตะวันออก ของรัฐอิสลาม อันมีพรมแดนจรดประเทศจีน ในเมืองคัชการ์ แคว้นซินเกียง ตามเส้นทางสายไหมนั่นเอง จากนั้นเข้าสู่จีน และแผ่ขยายสู่ดินแดน ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน แถบมณฑลเสฉวน ยูนนาน กวางสี และกวางตุ้งตามลำดับ ซึ่ง ดิน แดนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีนนี้ เชื่อกันว่าเป็นแหล่งกำเนิดของชนชาติไทย และเป็นที่ตั้งของอาณาจักรน่านเจ้า อันเป็นอาณาจักรแรกของคนไทย ก่อนการเคลื่อนอพยพลงมายังดินแดนสุวรรณภูมินั่นเอง

ฉบับ หน้าเราจะไปรู้จักกับอาณาจักรน่านเจ้า ดินแดนที่มีชาวมุสลิมฝังรกรากอยู่ที่นั่น และมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของไทยอย่างไร ต้องติดตาม…

ที่แน่ๆ อาณาจักรน่านเจ้านี้ก็คือ มณฑลยูนนานในปัจจุบันของจีน ที่ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้ไปเยือนเมื่อนานมาแล้วนั่นเอง.