“เซลฟี่” พฤติกรรรมโพสต์รูปรอ “ไลค์” โรคระบาดของคนในโลกไซเบอร์

ปัจจุบัน ภาพที่จะเห็นจนเป็นเรื่องปกติไม่ว่าตามป้ายรถเมล์ ขึ้นรถไฟฟ้า นั่งกินในร้านอาหาร เดินตามท้องถนน หรือแม้แต่ในกลุ่มเพื่อนที่อยู่ข้างๆกัน คือภาพผู้คนก้มหน้าอยู่กับหน้าจออุปกรณ์สื่อสารของตัวเอง มีปฏิสัมพันธ์อยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นที่ที่สามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็น, ทักทายกันและกันไม่ว่าจะรู้จักกันมาก่อนหรือไม่ ที่สำคัญคือความสามารถที่จะแบ่งปันหรือ share ภาพและข้อความกับวีดิโออย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียมากมาย แต่สำหรับบางคนอาจมีอาการมากจนน่าเป็นห่วงว่าจะเป็นปัญหาสุขภาพจิต

ใน เรื่องนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลว่า เรื่องที่น่าห่วงขณะนี้ พบว่าประชาชนทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะวัยรุ่นนักเรียน นักศึกษา มีพฤติกรรมที่เรียกว่า เซลฟี่ (selfie) กันมาก โดยเป็นพฤติกรรมที่ชอบถ่ายรูปตัวเองในอิริยาบถต่าง ๆ แล้วนำไปเผยแพร่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไม่ว่าจะทำอะไร ไปที่ไหน หรือกินอะไร เพื่อให้เพื่อนในสังคมออนไลน์ทั้งที่รู้จักจริง และรู้จักในสังคมออนไลน์ได้รับรู้มากดไลค์ (Like) ถูกใจในรูปภาพหรือเขียนแสดงความคิดเห็นต่างๆ

พฤติกรรมเช่นนี้ดูเผินๆไม่น่าจะมีอะไรผิดปกติ แต่จิตแพทย์กลับมองว่า อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นหรือ ความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งผลต่ออนาคต การงาน และการพัฒนาประเทศอย่างคาดไม่ถึง

“เซลฟี่ จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล การลงรูปเพราะอยากได้การตอบรับจากสังคม และการได้ยอดกดไลค์ ถือว่าเป็นรางวัล ซึ่งเป็นหลักปกติของมนุษย์ทั่วไป ถ้าอะไรที่ทำแล้วได้รางวัลก็จะทำซ้ำแต่ว่ารางวัลของแต่ละบุคคลมีผลกระทบต่อ ความรู้สึกไม่เท่ากันบางคนลงรูปไปแล้วได้แค่สองไลค์เขาก็มีความสุขแล้วเพราะ ถือว่าพอแล้ว แต่บางคนต้องให้มียอดคนกดไลค์มาก ๆ พอมากแล้วก็ยิ่งติดเพราะถือว่าเป็นรางวัล ในทางตรงกันข้ามหากได้รับการตอบรับน้อยไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ ทำใหม่แล้วก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจะส่งผลต่อความคิดของตัวเอง บุคคลนั้นสูญเสียความมั่นใจและส่งผลต่อทัศนคติด้านลบของตัวเองได้ เช่น ไม่ชอบตัวเอง ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง แต่หากบุคคลนั้นสามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้เป็นปกติได้ เซลฟี่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต”

หมอ จึงให้คำแนะนำว่า ทุกคนควรมีความมั่นใจในตัวเอง เพราะจะทำให้คนที่พอใจในตัวเอง มีความสุข มีสมาธิ ไม่กังวล ไม่โหยหาความรักและความสนใจจากคนอื่น ๆ กล้าทำในสิ่งใหม่ที่เหมาะสม มีความเป็นผู้นำกล้าเผชิญความจริง มีบุคลิกภาพดีเป็นมิตรกับคนทุกคน หากขาดความมั่นใจในตนเองแล้วจะเกิดความกังวล ลังเล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อมีความคิดสะสมไปเรื่อย ๆ อาจมีความผิดปกติทางจิตใจอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดกลัวหวาดระแวง เครียดอิจฉา ชอบจับผิดคนอื่น ซึมเศร้า อาจทำพฤติกรรมแปลก ๆ มีลักษณะตรงข้ามกับความมั่นใจตัวเอง เช่น การแต่งกาย การใช้คำพูด หรือประชดชีวิต เช่น ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด เป็นต้น หากเยาวชนไทยเป็นผู้ที่ขาดความมั่นใจ จะทำให้ไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ในชีวิต มักทำตามคนอื่น เป็นผู้ลอกเลียนแบบ หรือทำซ้ำ ๆ ในสิ่งที่ทำมาแล้ว พัฒนาตนเองยาก ขาดผู้นำ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย

ส่วน วิธีป้องกันการเสพติดเซลฟี่ และการสร้างความมั่นใจตัวเองบนโลกความเป็นจริง ต้องให้ความสำคัญกับคนรอบข้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริงในชีวิตประจำวัน หากิจกรรมยามว่างทำกับคนในครอบครัว เพื่อน ๆ เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง และข้อสำคัญให้ยอมรับในความแตกต่างของคน ที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญต้องฝึกความอดทนให้กับตัวเอง เพราะการถ่ายเซลฟี่ไม่สามารถที่จะทำได้ตลอดเวลา ครั้งไหนที่ทำไม่ได้ต้องยอมฝืนใจที่จะไม่ทำ หากผ่านจุดนั้นไปได้ ในครั้งต่อ ๆ ไป ก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมการถ่ายเซลฟี่ได้เช่นกัน

สังคม ออนไลน์อาจทำให้ความสุขก็ได้ ทำให้ทุกข์ก็ได้ แล้วแต่ว่าเราจะปรับใช้ให้เหมาะสมเกิดประโยชน์แก่ตัวเองมากน้อยเพียงใด อย่าใช้ให้ถึงขนาดต้องเรียกว่าเป็นโรคเลย

โดย : เอิบศรี