ริบเงินแจส 644 ล้าน ผลกระทบต่อการประมูล 4 จีใหม่

ภาพ : เนชั่น

ภายหลังสิ้นสุดกำหนดการชำระเงินค่าใบอนุญาต 4 จี บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรก จำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน (แบงก์การันตี) ในวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ของบริษัทแจส โมบาย บรอดแบนด์ (แจส) ในเครือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ชนะการประมูลไม่มาชำระเงิน

พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ออกมายืนยันว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าบริษัทแจส ไม่สามารถมาดำเนินการได้ทันกำหนดเวลา ดังนั้นในเบื้องต้นกทค. ได้วางแนวทางดำเนินการกรณีผู้ชนะประมูลไม่มาชำระเงินตามกำหนดเวลา โดยยึดตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2559

โดยมีแนวทางการดำเนินการดังนี้ คือ

1. หากจะมีการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ใหม่เกิดขึ้น ราคาเริ่มต้นการประมูลจะต้องถูกกำหนดไว้ในราคาที่ผู้ชนะการประมูลชนะไปในครั้งที่แล้ว

2.การประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ครั้งใหม่นี้ไม่ตัดสิทธิผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้วที่ได้นำเงินประมูลมาชำระในการที่จะเข้าประมูลใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยมีผู้เข้าร่วมประมูลแข่งขันมากราย

3. หากมีการประมูลแล้วไม่มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล กสทช.จะไม่มีการนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาประมูลในครั้งที่สองในทันที โดยจะเก็บคลื่นความถี่ดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และหากจะมีการเปิดประมูลใหม่ หลังจากนั้น ราคาเริ่มต้นการประมูลจะต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ผู้ชนะการประมูลชนะในครั้งที่แล้ว

4. ผู้ชนะการประมูลที่ไม่นำเงินมาชำระตามกำหนดเวลา นอกจาก กสทช.จะริบหลักประกันการประมูลที่เป็นเช็คเงินสดแล้ว จำนวน 644 ล้านบาท ยังจะต้องเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฎหมายหรือประกาศที่กำหนดไว้เพิ่มเติมอีก และจะตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการที่รับใบอนุญาตเดิมจาก กสทช. ทั้งกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

โดยบอร์ด กทค.ได้มีการประชุม ในวันที่ 23 มี.ค.2559 กำหนดรายละเอียดในการออกประกาศที่ชัดเจน สำหรับการสรุปค่าเสียหายที่จะเรียกเก็บกับผู้ชนะประมูล แต่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต กทค.จะวิเคราะห์และสรุปค่าเสียหาย ทั้งหมด เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นต้องระมัดระวังในการดำเนินการ หลักการของกทค.จะต้องไม่ทำให้ประเทศสูญเสียทั้งรายได้และการให้บริการประชาชน ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปได้

อย่างไรก็ดี นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกของประเทศไทยที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ แต่สำหรับครั้งแรกของโลกหรือไม่นั้นไม่แน่ใจ ที่ผ่านมาในต่างประเทศ หากมีการเคาะราคาที่สูงเกินไปจะให้ทำการหยุดการเคาะประมูลทันที ขอยืนยันว่ากสทช.ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว โอเปอร์เรเตอร์ จะต้องรับผิดชอบผู้ถือหุ้นต่างๆ ตามระเบียบข้อบังคับ

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ระบุว่า การประเมินความเสียหายอาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยจะมอบให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายเข้ามาพิจารณา เพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งการดำเนินคดีและการคำนวณค่าเสียหาย โดยข้อสรุปจะนำเสนอกับบอร์ดกทค.พิจารณาจากนี้กสทช.สามารถยึดหลักประกันทางการเงินจำนวน 644 ล้านบาท

หลังจากนี้เมื่อได้ข้อสรุปกทค.จะสรุปแนวทางและนำเสนอเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อรับทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายฐากร ได้พยายามติดต่อประสานกับเจ้าหน้าที่ของแจส และเสนอว่าในฐานะบริษัทมหาชนไม่ว่าจะจ่ายหรือไม่จ่ายควรแถลงข่าวให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อความชัดเจน แต่ทั้งนี้ผู้บริหารจากทางแจสแจ้งแต่เพียงว่าผู้ใหญ่ให้เตรียมตัว

ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ประธานสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)มองว่า น่าจะเกิดมาจากสาเหตุที่บริษัท จัสมิน ไม่สามารถหาหลักประกันทางการเงินหรือ”แบงก์การันตี” มาใช้ประกอบการชำระเงินได้ เนื่องจากสถาบันการเงินที่บริษัทไปติดต่อขอแบงก์การันตีไม่มั่นใจในแผนธุรกิจ และไม่ต้องการรับความเสี่ยง ซึ่งกรณีนี้ถือว่าน่าเสียดายที่ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายที่ 4 เข้าสู่อุตสาหกรรมมือถือในประเทศไทย ทำให้โอกาสที่การแข่งขันจะสูงและผู้บริโภคได้ประโยชน์มากขึ้นจะลดลง

ที่สำคัญ กสทช.ควรจัดให้มีการประมูลโดยเร็ว เพราะเป็นคลื่นความถี่ที่ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ การเก็บคลื่นความถี่ไว้นานไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศ ซึ่งแนวทางการจัดประมูลใหม่ ควรใช้วิธีการกำหนดราคาประมูลเริ่มต้นให้เท่ากับช่วงที่ผู้ประกอบการ 3 ราย ยังแข่งขันกันอยู่ คือ ในช่วงก่อนที่บริษัท ดีแทค จะถอนตัวจากการประมูลออกไป ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เป็นราคาที่อยู่ในช่วงที่ยังมีการแข่งขัน

โดยมองว่าการกำหนดราคาที่ระดับนี้มีความเหมาะสม และจำนวนผู้ประกอบการที่น้อยลงจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เหลือสามารถเคาะราคาแข่งขันกันได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ต้องกังวล เรื่องการทำโปรโมชั่น หรือแข่งขันกันเรื่องราคามากเกินไป ซึ่งวิธีการแบบนี้ น่าจะส่งผลดีมากกว่าการใช้ราคาประมูลที่บริษัทจัสมินชนะเป็นตัวตั้งต้นแล้วเคาะราคาลดลงมา

การไม่จ่ายใบอนุญาตของจัสมินในครั้งนี้ สะท้อนว่าแม้จะเป็นการทำธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท แต่การตัดสินใจของผู้บริหาร ยังมีการตัดสินใจในแบบใช้สัญชาตญาณ จากความเป็นไปได้ มากกว่าการทำตามโมเดลธุรกิจที่มีการศึกษาไว้ เหมือนทำธุรกิจสไตล์เจ้าสัว ซึ่งต่างจากการตัดสินใจของผู้บริหารมืออาชีพ ที่ทำตามแผนธุรกิจที่วางไว้ เพราะราคาขนาดนั้นผู้บริหารต่างชาติเขาถอนตัวไปแล้ว เพราะราคาเกินกว่าความสามารถที่จะประมูลสูงแค่ไหน แล้วพอจะจ่ายได้ ซึ่งเข้าใจว่า กรณีของจัสมินที่ไม่จ่ายค่าใบอนุญาต กสทช.คงมีมาตรการในการปรับ เรียกร้องค่าเสียหายในการประมูล และดำเนินการฟ้องร้องซึ่งเรื่องของคดีความคงใช้เวลานานกว่าจะสรุปว่าจะต้องชดเชยค่าเสียหายเท่าไหร่

ด้าน”ดีแทค”ให้ความสำคัญถึงการประมูลใหม่ โดยนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบอย่างมาก นับเป็นประวัติการณ์ของวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกันหาทางออกอย่างรอบคอบที่สุดเพื่อความยุติธรรมกับทุก ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หากจัดประมูลครั้งใหม่ กำหนดราคาประมูลเริ่มต้นควรอยู่ที่ 16,080 ล้านบาท (ในกรณีที่มีผู้ร่วมประมูลน้อยกว่า 3 ราย) เท่าเดิม ซึ่งจะเป็นราคาที่นำไปสู่การสะท้อนมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง

ส่วนเอไอเอส นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์เอไอเอส ออกมาย้ำว่า เอไอเอส ยังไม่มีความเห็นเกี่ยวกับการบริหารคลื่น 900 ส่วนที่ยังว่างอยู่ ขึ้นอยู่กับ กสทช. ในการบริหารจัดการ จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้

อย่างไรก็ตาม แต่ที่แน่ๆนายสืบศักด์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ย้ำว่า แจสคงต้องเตรียมรับผลกระทบที่จะมีกับธุรกิจในเครือจัสมิน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบค่อนข้างมากแน่นอน เนื่องจากแจส เป็นบริษัทลูกของบริษัทจัสมิน ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแจสคงเตรียมรับผลกระทบไว้แล้ว เมื่อตัดสินใจที่จะเลือกการไม่ชำระเงิน

สำหรับทางออกที่ภาครัฐมองไว้ โดยเริ่มจากการประมูลใหม่ในราคา 7.5 หมื่นล้านบาท อาจจะลำบากถ้าประมูลใหม่ภายใน 4 เดือน เพราะโอเปอเรเตอร์ แต่ละรายได้ลงทุนทางด้านธุรกิจและการขยายเครือข่ายไปมากแล้ว ส่วนหากจะเก็บคลื่นไว้ 1 ปี จึงประมูลใหม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งว่าผู้ให้บริการจะขานรับหรือไม่

ด้านรัฐบาลเอง โดยนายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีและการสื่อสาร(ไอซีที) เห็นว่า กรณีผู้ชนะประมูลไม่มาชำระเงิน ไม่มีผลกระทบต่อการพัฒนาดิจิทัลระยะยาวของไทย เชื่อว่าจะมีเอกชนที่สนใจคลื่นความถี่ดังกล่าว เพราะการขยายตัวของความต้องการด้านดิจิทัล และการสื่อสารมีความชัดเจนตามแนวโน้มของการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคม

ขณะที่เรื่องในแง่ของความเชื่อมั่นต่อการประมูลครั้งต่อไป ไม่น่าเกิดเหตุซ้ำ และกรณีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ น่าจะทำให้ผู้ที่จะสนใจเตรียมความพร้อมให้รัดกุม ขณะที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (บอร์ด กทค.) จะมีความชัดเจนในเรื่องของเงื่อนไขการเปิดประมูลครั้งใหม่ ขณะที่ตนเองคงได้ต้องไปหารือกับ กสทช.เช่นกัน

แต่ภาพรวมการเคลื่อนไหวราคาหุ้นจัสมิน(JAS) เมื่อวันที่21 มี.ค. นั้น ซึ่งเป็นกำหนดวันสุดท้ายของการชำระเงินค่าในใบอนุญาต 4 จี ปรากฏว่าราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง แต่ช่วงก่อนปิดการซื้อขายประมาณ 30 นาที มีแรงเทขายออกมาทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงต่ำสุดที่ราคา 3.56 บาท ก่อนจะดีดตัวขึ้นมาปิดตลาดที่ 3.68 บาทเพิ่มขึ้น 0.10 บาท คิดเป็น 2.79% มูลค่าการซื้อขายรวม 3.22 พันล้านบาท

ขณะที่หุ้นสื่อสารรายใหญ่ปรับตัวขึ้นคึกคักเช่นกัน โดยเฉพาะหุ้นแอดวานซ์(ADVANC)ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นจนกระทั่งปิดตลาดที่ระดับ 177 บาทเพิ่มขึ้น 6 บาทคิดเป็น 3.51% มูลค่าการซื้อขาย 3.28 พันล้านบาท ราคาหุ้นดีแทค(DTAC)ปิดตลาดที่ 42.25บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาทคิดเป็น 5.62% มูลค่าการซื้อขายรวม 2.53 พันล้านบาท และหุ้นทรูคอร์ปอเรชั่น(TRUE)ปิดตลาดที่ 8 บาทเพิ่มขึ้น 0.15 บาทคิดเป็น 1.91%มูลค่าการซื้อขายรวม 835.90 ล้านบาท

นายเกรียงไกร ทำนุทัศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี กล่าวว่า หลังจากที่จัสมิน พลาดการจ่ายค่าใบอนุญาตนั้น ส่งผลให้กลุ่มสื่อสารกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง โดยนักวิเคราะห์น่าจะมีการปรับประมาณการเพิ่มขึ้น หลังความเสี่ยงในธุรกิจลดลง จากการไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามากินส่วนแบ่งของผู้เล่นรายเดิม

ทั้งนี้แม้จะไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา แต่กลุ่มสื่อสารในระยะสั้นยังไม่น่าสนใจลงทุนมากนัก เพราะไม่ว่าจะเป็นรายใดต่างมีปัญหาเฉพาะตัวทั้งนั้น โดยปัจจัยเสี่ยงแต่ละบริษัท ประกอบด้วย บริษัทเอไอเอส ยังมีค่าใช้จ่ายด้านค่าไลนเซ่นซ์ 2 หมื่นล้านบาท และมีต้นทุนในการเคลื่อนย้ายลูกค้าจาก 2 จี มายัง 3 จี กดันรายได้ ในขณะที่บริษัทดีแทค ยังมีต้นทุนในการจัดทำโปรโมชั่นเพื่อรักษามาเก็ตแชร์อันดับที่ 2 ไว้ และบริษัททรู มีต้นทุนค่าใบอนุญาตที่สูงมาก และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า ส่วนบริษัทจัสมินนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ ต้องรอความชัดเจนจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ขณะที่นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยอมรับว่า จากกรณีที่จัสมิน มีกำหนดชำระเงินค่าใบอนุญาตนั้น ตลาดหลักทรัพย์ได้ติดตามในประเด็นดังกล่าว และได้มีการหารือถึงประเด็นนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้าก่อนเปิดการซื้อขาย ทั้งนี้หลังจากครบเวลาชำระค่าใบอนุญาต 16.30 น. ก็จะให้บริษัทชี้แจงข่าวที่สำคัญต่อบริษัทให้กับนักลงทุนรับทราบ

วันต่อมา(22มี.ค.)ต่อมาแทนบริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในเครือบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ “JAS” นำโดย นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จัสมิน แจ้งขอยกเลิกการแถลงข่าว โดยให้เหตุผลว่า การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หุ้นแจส ขึ้นตัว “H “คือ มีคำสั่งพักการซื้อขายหุ้นของจัสมิน ที่เป็นบริษัทแม่ของแจส บริษัทจำเป็นต้องชี้แจงต่อ ตลท. ให้เรียบร้อยก่อน จึงขอโทษ และขออภัยเป็นอย่างสูง จากนั้น เปิดการซื้อขายหุ้นช่วงบ่าย ตลท.ประกาศขึ้นเครื่องหมาย”SP” หยุดการซื้อขาย ไม่มีกำหนด จนกว่าบริษัทจะส่งข้อมูลเพิ่มครบถ้วน

ต่อมา”จัสมิน”ได้ทำหนังสือชี้แจงมติกรรมการบริหารต่อ ตลท. ว่าที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้ประชุมกัน โดยมีมติรับทราบว่า บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ชนะการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ แต่ไม่ได้ไปรับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันครบกำหนด คือ 21 มี.ค.2559 เนื่องจาก บ.แจสโมบาย ไม่สามารถนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน หรือแบงก์การันตี จำนวนประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท มามอบให้ กสทช. ได้ตามเวลา

เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่แห่งหนึ่งของจีน ซึ่งสนใจลงทุนในบริษัทแจสโมบาย และได้รับการสนับสนุนเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ของจีน ติดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของจีน ซึ่งคาดว่าจะเสร็จประมาณกลางเดือนเม.ย.2559 แต่ไม่ทันกำหนดเวลา 90 วัน ตามที่ระบุในประกาศ กสทช. และสำนักงาน กสทช.ก็ไม่สามารถผ่อนปรน หรือผ่อนผันเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลา ทำให้บริษัทแจสโมบาย นำแบงก์การันตีมามอบให้ได้ไม่ทันเวลา

ส่วนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแจสที่ไม่ได้ไปรับใบอนุญาตครั้งนี้ ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทได้ให้ความเห็นว่า ต้องถูกริบเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากบริษัทไม่ได้ทำผิดเงื่อนไขใดๆ ตามข้อ 5.2 ของหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ และการถูกริบเงินดังกล่าวก็ไม่มีผลกระทบต่องบการเงินของจัสมิน

ต่อมา วันเดียวกัน เวลาประมาณ 18.00 น. “จัสมิน”ได้ส่งคำชี้แจง เนื้อความเช่นเดียวกับของเดิมไปยัง ตลท. อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม วันที่ 23 มี.ค.นั้น คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)ที่มี พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นประธานจะประชุมเพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับแจส เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน รวมถึงสร้างความมั่นใจให้ธุรกิจโทรคมนาคมต่อไป

ทั้งนี้ “ทีดีอาร์ไอ” แสดงความเห็น 5 ประการต่อกรณีแจสโมบาย ไม่จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดแรกว่า การริบเงินหลักประกันการประมูล 644 ล้านบาทของแจส และเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดจากต้นทุนจัดประมูล ไม่น่าจะมีปัญหา
แต่การเรียกค่าเสียหายจากส่วนต่างของมูลค่าการประมูลที่ผ่านมากับมูลค่าการประมูลครั้งใหม่ จะซับซ้อนพอสมควร และต้องดำเนินการทางแพ่ง ส่วนผลจะเป็นอย่างไรจะขึ้นกับการประมูลของกสทช. หลังจากนี้ และการพิจารณาของศาลซึ่งน่าจะใช้เวลานานพอสมควร

นอกจากนี้ การห้าม (แบล็กลิสต์) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของแจสเข้าร่วมขอใบอนุญาตประกอบกิจการต่างๆ จากกสทช. ในอนาคต เป็นสิ่งที่กสทช. อาจทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างได้สัดส่วน การจะเพิกถอนใบอนุญาตอื่นๆ ของบริษัทในเครือจัสมินที่ได้รับจาก กสทช. เช่น โมโน หรือ 3 บีบี ย้อนหลังน่าจะมีปัญหา เพราะบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นคนละนิติบุคคลกัน

ที่สำคัญ กสทช. ไม่เคยกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวก่อนประมูล 4 จี การเพิกถอนใบอนุญาตย้อนหลังจึงน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยกฎหมายและขัดกับหลักนิติรัฐ ซึ่งอาจทำให้ กสทช. มีความรับผิดทางกฎหมายในอนาคต

กสทช. ไม่ควรเก็บคลื่นที่แจสประมูลได้ไว้นานเป็นปี เพราะจะทำให้ประเทศเสียโอกาสจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสาธารณะที่มีมูลค่ามหาศาล และการประมูลที่ล่าช้า จะทำให้การเรียกค่าเสียหายจากแจสทำได้ยากขึ้น เพราะไม่ทราบมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง

กสทช. ควรจัดการประมูลใหม่โดยเร็ว เช่นภายใน 2-3 เดือน มูลค่าคลื่นจะไม่ตกลงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการที่เหลืออยู่น่าจะยังเสนอราคาประมูลคลื่นที่ไม่แตกต่างจากเดิมนัก

แนวคิดของกสทช. ที่ต้องการให้การประมูลใหม่ต้องได้ราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่แจสชนะประมูลคือ 75,654 ล้านบาท ไม่สมเหตุผล เพราะเป็นราคาที่สูงกว่าผู้ประมูลรายอื่นที่เหลือทั้ง 3 รายเคยเสนอไว้ หากกสทช. พยายามยึดถือราคาดังกล่าว ก็อาจมองได้ว่า กสทช. ไม่ต้องการให้ใช้ประโยชน์จากคลื่นดังกล่าว ซึ่งจะมีผลนำไปสู่การผูกขาดบริการ 4 จี

กสทช. ควรนำคลื่นมาประมูลใหม่โดยเริ่มที่ราคาสุดท้ายที่ผู้ประกอบการทุกรายยังรับได้คือ 70,180 ล้านบาท และการประมูลครั้งใหม่ ควรให้ผู้ชนะการประมูลครั้งเดิมคือ “ทรู”เข้าร่วมประมูลด้วย

อีกทางเลือกหนึ่งคือ ตั้งต้นการประมูลที่ราคา ซึ่งแจสประมูลได้ แล้วค่อยๆ ลดราคาลงมาจนกว่าจะมีผู้ยอมรับราคา ซึ่งเรียกว่า “การประมูลแบบดัทช์” (Dutch auction) แต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อสาธารณชน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป รัฐจะได้ราคาต่ำลง

สำหรับการประมูลครั้งใหม่ กสทช. ควรเรียกเก็บค่าประกันการประมูลที่สูงขึ้น เช่น ให้ใกล้เคียงกับราคาตั้งต้น เพื่อป้องกันปัญหาที่ผู้ชนะการประมูลทิ้งใบอนุญาตอีก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กลต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรตรวจสอบการซื้อขายหุ้นและธุรกรรมอื่นๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้อง เพราะช่วงที่ผ่านมา บางบริษัทมีธุรกรรมจำนวนหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ถือหุ้นกลุ่มต่างๆได้

วันเดียวกัน ดีแทค ไตรเน็ต ได้ยี่นจดหมายแสดงความคิดเห็นต่อ กสทช. ประเด็นประมูลใหม่คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ชุดที่ 1 โดยนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ราคาคลื่นความถี่ทั้ง 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่สูงมากจากการประมูลคราวที่แล้ว จะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระยะยาว

ส่วนการที่ผู้ชนะการประมูลชำระค่าคลื่นความถี่งวดแรก และวางหนังสือค้ำประกันค่าคลื่นความถี่ต่อ กสทช. ไม่ได้ตามกำหนด อาจพิจารณาได้ว่า การประมูลคลื่นความถี่เกิด “ความต้องการเทียม” เป็นปัจจัยหลักในการดันราคาการประมูลให้สูงเกินกว่าความต้องการที่แท้จริงของอุตสาหกรรม

ราคาการประมูลคลื่นความถี่ ที่สูงเกินความคาดหมายได้ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ขณะที่รัฐได้รายได้จากการประมูลคลื่นจำนวนมาก แต่ผลด้านลบกลับเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ผู้บริโภคกังวลต่อความสามารถในการให้บริการที่ต้นทุนที่สูงมาก นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเกิดความไม่มั่นใจในการลงทุน ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งผลให้มูลค่าตลาดของบริษัทที่เข้าร่วมการประมูลทั้ง 4 ราย ลดลงเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท

ดีแทค ไตรเน็ต สนับสนุน กสทช. จัดประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ชุดที่ 1 ใหม่ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์คราวก่อน โดยจำกัดไว้เฉพาะผู้เข้าร่วมประมูลที่เหลือจากการประมูลคราวก่อน แต่ผู้ชนะไปแล้วไม่ควรมีสิทธิเข้าร่วมประมูล และกำหนดราคาขั้นต่ำที่ 16,080 ล้านบาท เท่ากับการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์คราวก่อน

ขณะเดียวกัน ขอเสนอให้ กสทช. จัดให้การรับฟังความเห็นสาธารณะเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเป็นการทั่วไปด้วย โดยบริษัทยินดีให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ต่อกสทช.ในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่จะมีขึ้น เพื่อนำไปสู่การจัดการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ชุดที่ 1 (Re-auction) ด้วยความสำเร็จลุล่วงด้วยดีต่อไป

นี่คือปัญหาผลกระทบการประมูล4จีใหม่ ที่ยังไม่จบ หลัง”แจส”ไม่ชำระเงินค่าใบอนุญาต