ความงดงามของคำว่า “เสรีภาพ” ที่มาพร้อม “กับดัก”

ภาพประกอบจาก http://www.wealthynation.org


ในทางรัฐศาสตร์ หลักการขั้นพื้นฐานของอุดมการณ์ประชาธิปไตย  คือ หลักการสำคัญในเรื่องความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพ  เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน ว่ามีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน  ด้วยเหตุที่ถือว่าความเสมอภาคเป็นเรื่องสำคัญ  ประชาธิปไตยจึงยึดมั่นในสิทธิเสรีภาพ เพราะถ้าขาดเสรีภาพย่อมส่งผลต่อหลักประกันในเรื่องความเสมอภาค

ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ประชาชนต้องมี สิทธิเสรีภาพ ที่จะใช้เหตุผลกำหนดชะตากรรมและสร้างสรรค์สังคมของตนเองได้

การปกครองระบอบนี้เองมีแนวคิดมาจากนักปราชญ์ตั้งแต่สมัยโบราณ  และเป็นที่ยอมรับ  มาจนถึงปัจจุบันว่า  บุคคลทุกคนเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์   ย่อมมีความเท่าเทียมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน ทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพเป็นของตนเองตามธรรมชาติ

คำว่า “เสรีภาพ” หมายถึง อำนาจตัดสินใจด้วยตนเองของมนุษย์  ที่จะเลือกทำการของตนเอง โดยไม่มีบุคคลอื่นใดอ้างหรือใช้อำนาจสอดแทรกเข้ามาเกี่ยวข้องการตัดสินใจนั้นๆ  แต่แท้จริงแล้วการที่มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม  ตั้งแต่สังคมหน่วยที่เล็กที่สุดคือ “สังคมในครอบครัว” ไปจนถึง สังคมระดับมหภาคคือ “สังคมโลก”  ย่อมต้องมีกฏเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดความสงบสุขและสันติภาพ

หากเรามองเรื่องของเสรีภาพเป็นหน่วยที่เล็กลงในระดับจุลภาค จะพบว่า เราใช้คำว่า เสรีภาพ วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์อยู่แทบทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการพูด  เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  เสรีภาพในการดำเนินชีวิต แต่เมื่อบุคคลจะตัดสินใจกระทำการหรือไม่กระทำการสื่งใด  ย่อมต้องคำนึงถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ของสังคม  ดังเช่น  กฏเกณฑ์บางเรื่องที่ไม่เอื้อต่อการใช้เสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์   ทั้งที่ไม่ได้เป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นโดยตรง  ยังจะต้องมีการควบคุมการใช้เสรีภาพ  ซึ่งในบางทัศนะ  เป็นพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรม  เช่น การใช้สารเสพย์ติด การทำแท้ง การฆ่าตัวตาย

มิต้องพูดถึงการใช้คำว่าเสรีภาพที่นำไปใช้ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ที่จะต้องมีเส้นแบ่ง  มีกฏเกณฑ์  ในการอยู่ร่วมกัน เพราะในสังคมระดับที่ใหญ่ขึ้นก็ยิ่งมีความแตกต่าง  ทั้งทางความเชื่อ  จารีตประเพณี  ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม มากขึ้นตามลำดับ  ยกตัวอย่างในเรื่อง เสรีภาพเบื้องต้นของมนุษย์  เช่น  เสรีภาพในการพูด  เราไม่สามารถพูดในสิ่งอยากพูดได้ในทุกๆ เรื่อง  และหากเรื่องที่เราพูดนั้นไปกระทบเกี่ยวพันกับชีวิตผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นการ พูดจาดูหมิ่น  สบประมาท  กล่าวร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย  การด่าว่าบุพการีอันเป็นที่เคารพรักของผู้อื่น การดูวิพากษ์วิจารณ์ดูหมิ่นความเชื่อ ความศรัทธาของผู้อื่น  หรือแม้กระทั่งการพูดเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของชาติ   ก็อาจส่งผลให้ผู้พูดได้รับผลจากการกระทำนั้นโดยการถูกดำเนินคดีทางกฏหมายได้ เช่นเดียวกัน

จากเหตุที่ยกมาดังกล่าว นับตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน คำว่า “เสรีภาพ” มีความหมายที่ดูงดงามในตัวมันเอง  เป็นอุดมคติสวยหรูที่มนุษย์ใฝ่ฝันหา  แต่หากมองย้อนในอีกแง่มุมนึง  มนุษย์กำลังติดกับดักความสวยหรูของคำว่าเสรีภาพ  มองคำว่าเสรีภาพเฉพาะแต่ในด้านที่งดงามเพียงด้านเดียวเท่านั้นหรือไม่?  มนุษย์กำลังใช้คำว่าเสรีภาพสิ้นเปลืองเกินไปเสียจนหลงลืมว่า ความหมายของคำว่าเสรีภาพ  ไม่ใช่เอาไว้พูดเพื่อให้ดูสวยหรูเพียงเท่านั้น  หากแต่ในทางปฏิบัติ  คำว่าเสรีภาพยังเกี่ยวพันกับชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์เอง ในทางที่จะได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมที่จะกระทำการทุกอย่างภายใต้ข้อตกลงใน การอยู่ร่วมกันในสังคม

อาจกล่าวได้ว่า คำนิยามของคำว่าเสรีภาพที่นักปรัชญาตะวันตกได้ให้ไว้ในทางปรัชญาการเมือง ยุคเริ่มต้นนั้น  คำว่าเสรีภาพเป็นคำที่ให้ความหมายและให้คุณค่าที่สูงส่ง  ต่อเมื่อหยิบยกนำมาใช้ในทางปฏิบัติแล้ว  จึงควรประกอบด้วยการใช้หลักการและเหตุผลรองรับที่มีน้ำหนักเพิ่มเติมเข้าไป อีก  มิใช่ปล่อยให้ทุกคนทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยอ้างอิงว่า “นี่คือการใช้เสรีภาพที่มนุษย์มี” แต่เพียงเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  จึงเกิดการตั้งคำถามว่า  ในทางปฏิบัติแล้ว  เราสามารถใช้เสรีภาพของมนุษย์  โดยไม่ต้องสนใจขอบเขตของมันเลยกระนั้นหรือ   และในโลกใบนี้เสรีภาพที่ไร้ขอบเขตนั้น  มีอยู่จริงหรือไม่ แม้กระทั่งในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเสรีภาพมากที่สุดก็ตาม  หรือหากจะมีอยู่จริงคงมีแต่เพียงเสรีภาพทางความคิดเท่านั้น  แต่เมื่อนำเสนอออกมา  ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบของคำพูดหรือการกระทำ ควรมีขอบเขตที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้ก้าวข้ามเส้นแบ่งไปสู่การละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น……