ข้อมูลกษัตริย์จอร์แดนแฉอีก! ประเทศมุสลิมเข้าร่วมพันธมิตรซาอุฯ ต่อต้านก่อการร้าย เพราะ “ไม่มีผลผูกพัน”

กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน (ขวา) ต้อนรับมุฮัมหมัด บินซัลมาน รัฐมนตรีกลาโหมและรองมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย ที่พระบรมมหาราชวังในอัมมาน (Photo AFP)

จอร์แดนและประเทศมุสลิมอื่นๆ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับซาอุดีอาระเบียต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) เนื่องจากไม่มีผลผูกพันใด สำนักข่าว MEE (Middle East Eye) รายงาน

รายละเอียดการประชุมร่วมกับผู้นำรัฐสภาสหรัฐในเดือนมกราคม ที่ถูกเปิดเผยเป็นครั้งแรกโดยสำนักข่าว MEE ในสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุ กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ได้บอก “ความจริง” กับนักการเมืองอเมริกัน เกี่ยวกับพันธมิตรภายใต้การนำซาอุดีอาระเบียในการต่อสู้กับไอเอส

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับรูปแบบทางทหารของประเทศมุสลิมที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับซาอุดิอาระเบีย ซึ่งได้ประกาศในเดือนธันวาคม ที่ประกอบด้วย 34 ประเทศมุสลิม กษัตริย์อับดุลเลาะห์กล่าวว่า เป็นข้อตกลงที่ “ไม่มีผลผูกพัน” (non-binding) นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจอร์แดนและสมาชิกประเทศอื่นๆ จึงตกลงเข้าร่วม

“นี่เป็นเสมือนพันธมิตรที่ไม่มีผลผูกพัน เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าเราต่อต้านไอเอส ดังนั้นในกรณีนี้เรา (สมาชิก) ทั้งหมดจึงได้ลงนาม” เขากล่าว

กษัตริย์อับดุลเลาะห์กล่าวว่า ที่พันธมิตรซาอุดีอาระเบียเห็นต่างกัน เพราะเขาได้พยายามที่จะให้ริยาด “ไปยังกรุงไคโร ซึ่งจะทำให้เราฉายภาพอาหรับมุสลิมที่จับมือเป็นพันธมิตรต่อต้านไอเอส แต่ไม่ได้รับการยอมรับด้วยเหตุผลบางประการ”

หลังจากซาอุดิอาระเบียปฏิเสธการเข้าร่วมการเจรจาเผยในเมืองหลวงของอียิปต์ กษัตริย์อับดุลเลาะห์กล่าวว่า พวกเขาได้หาวิธีการอื่นแทน โดยเขากล่าวเพิ่มเติมว่า เขาได้มองถึงการจัดตั้ง “กองกำลัง” เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาไอเอสและกลุ่มอื่นๆ ที่คล้ายกัน

กษัตริย์อับดุลเลาะห์ได้แสดงความเห็นในระหว่างการประชุมกับนักการเมืองอเมริกันอาวุโสในเดือนมกราคม สำนักข่าว MEE ได้รับข้อมูลรายละเอียดของการประชุมดังกล่าวจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดการสนทนาดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เปิดเผยตัวตนเขา

เรื่องของกลุ่มพันธมิตรซาอุฯ เป็นหนึ่งในหลายหัวข้อที่ถูกอธิบายโดยกษัตริย์อับดุลเลาะห์ในที่ประชุม ซึ่งรวมถึงการที่กษัตริย์ยืนยันว่า อังกฤษและกองกำลังพิเศษจอร์แดนได้เข้าไปในลิเบียและโซมาเลีย

นอกจากนี้เขายังเปิดเผยว่า มีปฏิบัติการลับทางทหารของจอร์แดนเกิดขึ้นในซีเรีย และเขากล่าวหาว่าประธานาธิบดีตุรกี เรเยบ ตอยยิบ เออร์โดกัน เกี่ยวกับการส่ง “ผู้ก่อการร้าย” ไปยังยุโรป

ความขัดแย้งในพันธมิตร

เมื่อซาอุดิอาระเบียประกาศจัดตั้งพันธมิตรที่จะจัดการปัญหาไอเอสในเดือนธันวาคม ก็ได้สร้างความประหลาดใจ เพราะมันดูเหมือนจะได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

มุฮัมหมัด บินซัลมาน รัฐมนตรีกลาโหมและรองมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย  รีบเร่งดึงมาแถลงข่าวร่วมกันในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 15 เดือนธันวาคม และประกาศว่ากองกำลังพันธมิตรได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายยัง “กลุ่มการก่อการร้ายทั่วโลก” ทั้งในอัฟกานิสถาน, อียิปต์, ลิเบีย, อิรัก และซีเรีย

ซาอุดิอาระเบียเปิดตัวกองกำลังพันธมิตร “ในการต่อสู้กับการก่อการร้าย” ตามแถลงการณ์อย่างเป็นทางการที่มีขึ้นพร้อมกับการประกาศว่า “ศูนย์ปฏิบัติการร่วมจะอยู่ในริยาด” เพื่อที่จะ “ประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติการทางการทหาร”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีปฏิบัติการทางทหารใดๆ ตามที่อ้างว่าเป็นเหตุผลในการจัดตั้งพันธมิตร นับตั้งแต่ที่ได้ประกาศไป

วันรุ่งขึ้นหลังจากได้มีการประกาศออกไป มีสมาชิกหลายประเทศของพันธมิตรกล่าวว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับคำประกาศนั้น

อินโดนีเซียกล่าวว่า จำเป็นต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติม และต่อมาจาการ์ต้าก็ประกาศว่า “ไม่ต้องการที่จะเข้าร่วมกองกำลังพันธมิตร”

รัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน อาอิซัส ชาอุดรี (Aizaz Chaudhry) กล่าวว่า เขา “แปลกใจ” ที่มีการอ่านชื่ออิสลามาบัดรวมเข้าไปด้วย และนักการเมืองปากีสถานคนอื่นๆ ก็กล่าวว่า พวกเขาได้ยินครั้งแรกเกี่ยวกับการเข้าร่วมพันธมิตรก็จากสื่อ

มาเลเซีย เป็นสมาชิกอีกประเทศหนึ่ง ที่ออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการทหารโดยทันที

ความสับสนที่เกิดขึ้นท่ามกลางการประกาศจัดตั้งพันธมิตรนั้น ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาค จอร์จจิโอ กาฟิเอโร่ (Giorgio Cafiero) ผู้ก่อตั้ง Gulf State Analytics และ แดเนียล แว็กเนอร์ ซีอีโอของ Country Risk Solutions ได้บอกถึงการจัดตั้งพันธมิตรนี้ในสื่อฮัฟฟิงตันโพสต์ (Huffington Post) ว่า เป็น “บ้านที่ทำด้วยไพ่” (house of cards: สำนวน หมายถึงไม่มั่นคง)

การก่อตั้งพันธมิตรมีขึ้นในช่วงเวลาที่แรงกดดันเพิ่มขึ้นสูงในประเทศซาอุดิอารเบีย โดยต้องเผชิญหน้ากับคำวิจารณ์ที่เพิ่มมากขึ้นในสื่อภาษาอังกฤษ โดยซาอุฯ ถูกกล่าวหาว่าขาดความมุ่งมั่นที่ชัดเจนในการต่อสู้กับไอเอสและอุดมการณ์ของพวกเขา ซึ่งหลายฝ่ายเอาไปเชื่อมโยงกับแนวคิดของริยาดซึ่งเป็นอิสลามอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว (ultra-conservative) ในแบบซาลาฟี (Salafist)

ที่กรุงวอชิงตัน กษัตริย์อับดุลเลาะห์ไม่ได้เจาะจงลงในรายละเอียดเกี่ยวกับพันธมิตรซาอุดีอาระเบีย แต่ในการตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้จากส.ส.พรรครีพับลิกันจากฟลอริด้า แอนเดอร์ เครนชอว์ (Ander Crenshaw)  กษัตริย์อับดุลเลาะห์บอกว่า เขากำลังมองหาวิธีที่จะ “สร้างกองกำลังอาหรับที่สามารถข้ามเข้าไปในพรมแดนต่างๆ”

เขาไม่ได้เปิดเผยว่าเขาวางแผนจะสร้างกองกำลังนั้นเช่นไร แต่ในส่วนของการสนทนาก่อนหน้านี้เขาแสดงให้เห็นว่า กองกำลังอังกฤษและจอร์แดนมีการทำงานลับร่วมกันในปฏิบัติการต่อสู้กับกลุ่มหัวรุนแรงอัลชาบับ (al-Shabab) ในโซมาเลีย

“เราเริ่มต้นด้วยอัลชาบับตอนที่พวกเขาเข้าไปในลิเบีย” เขากล่าว ซึ่งหมายถึงความวุ่นวายและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในลิเบียนับตั้งแต่นาโต้ได้สนับสนุนการปฏิวัติในปี 2011 เพื่อล้มล้างผู้นำ โมอัมมาร์ กัดดาฟี

ต่อมากษัตริย์อับดุลเลาะห์กล่าวว่า เขาต้องการที่ให้ประเทศแอฟริกาตะวันออกทำงานร่วมกันและมีความเป็นเจ้าของใน “กลุ่มต่อต้านการก่อการร้าย” แต่โดยมีอาหรับกำกับดูแล

กษัตริย์จอร์แดนมีประสบการณ์ทางการทหารสูง เขาผ่านการฝึกหลักสูตรเจ้าหน้าที่กองกำลังพิเศษจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนเฮิสต์ของอังกฤษในปี 1980 ก่อนที่จะรับราชการในกองทัพอังกฤษระยะเวลาสั้นๆ

นับตั้งแต่ได้เป็นกษัตริย์ในปี 1999 อับดุลเลาะห์ได้พยายามที่จะพัฒนาขีดความสามารถทางทหารของจอร์แดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังพิเศษของประเทศจอร์แดน ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจอร์แดน ฌอน ยม (Sean Yom) จากมหาวิทยาลัยเทมเปิล (Temple University) ได้บอกกับสำนักข่าว MEE ก่อนหน้านี้ว่า นโยบายนี้จะทำให้กรุงอัมมานกลายเป็น “เมืองหลวงของกองกำลังพิเศษแห่งตะวันออกกลาง” โดยบอกว่า พวกเขามีกองกำลังพิเศษที่ดีที่สุดในภูมิภาค

ในการประชุมที่กรุงวอชิงตัน กษัตริย์อับดุลเลาะห์ประกาศว่า การต่อสู้กับ “ไอเอส” เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการต่อสู้กับ “ขุนโจรแห่งอิสลาม” เขาเสริมว่า การต่อสู้จะทอดยาวจากอินโดนีเซียจนถึงแคลิฟอร์เนีย

ส.ส. แอนเดอร์ เครนชอว์  เห็นด้วยกับกษัตริย์อับดุลเลาะห์และกล่าวว่า “จอร์แดนอยู่ในจุดกึ่งกลางของสงครามโลกนี้”

เครนชอว์ ถามกษัตริย์อับดุลเลาะห์ ถึงประสิทธิภาพของพันธมิตรซาอุฯ ต่อต้านไอเอส เมื่อเทียบกับพันธมิตรภายใต้การนำของสหรัฐฯ  และเขาขอความเห็นจากกษัตริย์เกี่ยวกับการที่วอชิงตันจะเข้าร่วมกับพันธมิตรริยาด

กษัตริย์อับดุลเลาะห์ตอบว่า “ไม่ว่าพันธมิตรใดที่เกี่ยวข้องกับจุดร้อนบนแผนที่นี้ ควรมีโฉมหน้าของมุสลิมหรืออาหรับ ด้วยนี่เป็นสงครามของมุสลิม แต่เราต้องอยู่บนความจริงเกี่ยวกับพันธมิตรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมากมายนั้น ซึ่งเป็นกองกำลังที่จะต้องได้รับการพัฒนาอย่างด่วน”

ไม่มีนักการเมืองอเมริกันใดที่อยู่ในที่ประชุมตอบสนองให้ความคิดเห็น

มานา ดับบาส (Manar dabbas) ผู้อำนวยฝ่ายการเมืองของจอร์แดน กล่าวพาดถึงถึงรายงานของสำนักข่าว MEE กับที่ปรึกษาด้านสื่อของรัฐบาล แต่เขาเพียงกล่าวว่า “บทสนทนาที่เรามีในวอชิงตันเป็นข้อมูลที่ไม่เปิดเผย (off the record)”

 

** กษัตริย์จอร์แดนแฉ ตุรกีจงใจ “ปล่อย” ผู้ก่อการร้ายเข้าไปยังยุโรป