“มุสลิมโรฮิงยา” จากชายแดนไทยถึงพม่า สู่ปี 58 ชีวิตภายใต้ปัญหาที่ไม่มีวันจบ

จะก้าวพ้นปี 2557 แล้ว ปัญหาชาวโรฮิงยาอพยพหนีภัยจากบ้านเกิด และกระบวนการค้ามนุษย์  ก็ยังคงเป็นปัญหาระดับภูมิภาคอาเซียน ที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การเดินทางอพยพหนีความรุนแรงจากบ้านเกิดของชาวโรฮิงยา ในรัฐระคายหรือยะไข่ (Rakhine) รัฐชายฝั่งตะวันตกของประเทศพม่า ใกล้ชายแดนบังคลาเทศ กลายเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดในโลกปัจจุบัน ความรุนแรงระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ และขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งชาวโรฮิงยาต้องเจอ  ชาวโรฮิงยาหลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2549 – 2554  จำนวนชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ถูกทางการไทยจับกุมได้นั้น มีจำนวนกว่า 15,000 คน (กอ.รมน.ภาค 4 สย.1 ระนอง, 2555) ส่วนใหญ่เป็นชาย อายุระหว่าง 15 ถึง 40ปีมีเด็กและผู้หญิงค่อนข้างน้อย (IOM, 2009)

เพราะอะไร ชาวโรฮิงยาต้องทิ้งบ้านเกิด

เพียงเพราะ“โรฮิง ยา”เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่าและถูกเสริมด้วยอคติและความขัดแย้งทาง ประวัติศาสตร์ เพิ่มเติมด้วยความแตกต่างทางศาสนา ระหว่างพุทธ กับ มุสลิม ชาวโรฮิงยาจึงกลายเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกกระทำมากที่สุดในพม่า พวกเขาไม่ได้แม้แต่การยอมรับในฐานะของกลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิมในประเทศพม่า ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เฝ้าจับตามองให้ความเห็นว่า “ตั้งแต่ชาวมุสลิมโรฮิงยา หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ในประเทศพม่า จนถึงประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ชาวโรฮิงยาต้องจ่ายเงินให้กับขบวนการค้ามนุษย์ตลอดเส้นทาง” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ “จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศดำเนินการช่วยเหลือโดยด่วน เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรมของความเป็นมนุษย์เหมือนกันไม่ว่าบุคคลนั้นจะนับถือ ศาสนาใดก็ตาม”

ประวัติศาสตร์ของ โรฮิงยา การสร้างชาติพม่า ชีวิตที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

“โรฮิงยา”เป็นคำที่ เรียกชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่อยู่ดินแดนอาระกันหรือรัฐระคายในปัจจุบัน    รัฐชายแดนทางตะวันตกของพม่า ติดกับชายแดนบังคลาเทศ ชาวโรฮิงยา มีลักษณะร่างกายและ ภาษา ที่ใช้ใกล้เคียงกับภาษาเบงกาลี ภาษาที่ถูกใช้ในบังคลาเทศ ประเทศเพื่อนบ้านมุสลิมทางตะวันตก จากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ และความแตกต่างทางชาติพันธ์ที่ชัดเจน ชาวโรฮิงยาจึงไม่เคยถูกยอมรับว่าเป็น กลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า

คำว่า “โรฮิงยา” ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงถึงความเป็นมา สำหรับชาวโรฮิงยา พวกเขาอ้างถึงการสืบเชื้อสายมาจากนักเดินเรือชาวอาหรับ การก่อตั้งอาณาจักรโบราณที่ชื่อว่า มารุค อุ (Mrauk U) ในดินแดนอาระกัน รัฐระคายในปัจจุบัน พวกเขาคือคนพื้นเมืองบนดินแดนอาระกัน เป็นกลุ่มชาติพันธ์บนดินแดนอาระกันที่นับถืออิสลาม แต่สำหรับพม่า “โรฮิงยา” เป็นคำที่เกิดขึ้นมาใหม่ จากนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอาระกันที่ หมายถึงพวกที่อพยพเข้ามาจากบังคลาเทศอย่างผิดกฎหมายในช่วงเวลาที่พม่าอยู่ ภายใต้อังกฤษในฐานะอาณานิคม โรฮิงยาจึงไม่ใช่กลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิมในพม่า (U Khin Maung Saw,1993)

ประวัติศาสตร์ของโรฮิง ยาจึงผูกพันกับดินแดนอาระกัน ซึ่งมีประวัติเป็นของตนเองและเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในช่วงเวลาไม่นาน อาณาจักรมารุค อุ เป็นเอกราช เช่นเดียวกับอาณา จักรของชาวพม่า จนกระทั่งปี ค.ศ.1784 ที่อาณาจักรพม่าขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนอาระกัน ผู้คนจำนวนมากทั้งพุทธ และมุสลิมอพยพหนีกองภัยสงครามเข้าสู่จิตตะกอง ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในสมัยนั้น ขณะที่บางส่วนถูกกวาดต้อนไปยังดินแดนพม่าตอนใน ประชากรในดินแดนอาระกันจึงลดจำนวนลง ไร่นาถูกละทิ้ง ดินแดนอาระกันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าอยู่ 44 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1784 จนถึง 1828 (Aye Chan, 2005)

สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและกลุ่มชาวโรฮิงยาแตกแยกมากขึ้น แม้ว่าในภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวโรฮิงยาจะถูกรับรองในความเป็นกลุ่มชาติพันธ์ในสมัยรัฐบาลของนายอูนุ ในการประชุมสภาเมื่อ 1950 แต่ภายหลังการยึดอำนาจของนายพล เน วิน ในปี1978 พร้อมกับการนำสังคมนิยมแบบพม่ามาใช้ มีการสร้างความรู้สึกชาตินิยมพม่า พุทธขึ้นมา นำไปสู่ความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธ์ที่แตกต่างไปจากพม่า และกลุ่มชาติพันธ์ที่แตก ต่างไปจากพม่ามากที่สุดคือ “โรฮิงยา” ที่อาศัยอยู่ในดินแดนอาระกันหรือระคาย(ยะไข่)มาก่อน  ซึ่งมีลักษณะ มีภาษา มีการแต่งกายใกล้เคียงกับผู้คนในบังคลาเทศมากกว่าพม่า มีการนับถือทั้งศาสนาอิสลาม ฮินดู พุทธ ชาวโรฮิงยาจึงไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์พม่า

“ล่วงเข้าปี 2558” กับปัญหาของชาวโรฮิงยาที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รัฐบาลไทย จะดำเนินการกับชาวโรฮิงยาอย่างไร?

รัฐบาลไทยให้การช่วย เหลือชาวโรฮิงยาตามหลักมนุษยธรรม แต่บนพื้นฐานหลักการ กลุ่มโรฮิงยาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย (Illegal migration) ที่มิใช่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ (Displaced person from fighting) และมิใช่เป็นผู้อพยพ/ลี้ภัย (Refugee) แนวทางปฏิบัติของทางการไทยต่อชาวโรฮิงยา จึงต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งทั้งหมดก็จะถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่ลักลอบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิด กฎหมาย

การดำเนินการของไทยจะ เป็นมาตรการสกัดกั้นใน 2 ลักษณะ คือ กรณี ชาวโรฮิงยาสามารถเข้าถึงแนวชายฝั่ง จะดำเนินการจับกุมโดยใช้ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ กองกำลังป้องกันชายแดน ทหารเรือ และตำรวจน้ำ ก่อนที่จะส่งมอบให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดำเนินคดี และผลักดันต่อไป กรณี สามารถจับกุมได้ในขณะยังไม่ขึ้นฝั่ง จะใช้ วิธี การผลักดัน

ชาวโรฮิงยาที่อยู่ภายใต้การควบคุมและอำนาจของรัฐบาลไทย

แต่การปฏิบัติกับชาวโร ฮิงยา ต้องให้ชาวโรฮิงยาเป็นบุคคลไร้ตัวตนทางกฎหมาย รัฐบาลไทยจัดให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกกันออกจากการเป็นสมาชิกของระเบียบสังคม ของรัฐ ไม่ได้ถูกรับรองสถานะความเป็นบุคคล และถูกควบคุมในพื้นที่สำหรับ “ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่รอการผลักดันกลับ” ภายใต้การควบคุมของสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.)

แต่เนื่องจากการที่ชาว โรฮิงยาถูกปฏิเสธจากทางการพม่า และการส่งกลับแบบที่เคยทำในช่วงเวลาก่อนปี 2555  ก็ไม่ได้ถูกยอมรับจากรัฐบาลพม่าอีกต่อไปแล้ว และในปัจจุบัน การควบคุมภายใต้ ตม. นี้ ที่ทางรัฐบาลไทยได้ปฏิบัติไปนั้น ก็เพื่อรอการส่งต่อไปยังรัฐชาติอื่น ๆ ที่ยอมรับสถานะของชาวมุสลิมโรฮิงยา

รัฐบาลไทยหวังว่า ปัญหาเกี่ยวกับชาวโรฮิงยาอพยพ จะได้รับการช่วยเหลือ และแก้ไข จากนานาประเทศ  และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภายในปี 2558 เป็นต้นไป จะสามารถส่งชาวโรฮิงยาไปยังประเทศอื่นๆ ได้โดยเร็ว เพราะหากชาวโรฮิงญาอยู่ในประเทศไทย ปัญหาจะยิ่งบานปลายและอาจจะเป็นภัยมั่นคงกับประเทศได้  และยังจะเป็นปัญหาต่อไม่จบสิ้น ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม แม้ทางสหประชาชาติ จะได้ส่งผู้แทนเข้าไปช่วยแก้ไขแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนจากรัฐบาลพม่า

“ปัญหาของชาวโรฮิงยา จึงยังไม่มีวันจบ”

—–

เรียบเรียงจากเอกสารเผยแพร่ต่างๆ