เมื่อการปฎิวัติวัฒนธรรมจีนเกิดขึ้น ในปี ค.ศ.1966-1976 สามารถกล่าวได้ว่าเป็นระยะเวลา 10 ปี แห่งการทำลายสิ่งที่แสดงถึงวัฒนธรรมของจีนตั้งแต่ตำราโบราณ วัดวาอาราม งานศิลปะต่างๆ ถูกทำลายเสียหายอย่างยับเยิน แม้กระทั่งครอบครัว เพื่อนบ้านก็ขาดความไว้วางใจกันเพราะไม่มีรู้ว่าใครจะเป็น ผู้แจ้งให้ทางการรู้เกี่ยวกับการละเมิดกฎที่ทางการตั้งไว้ จนกระทั่ง เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนประกาศนโยบายเปิดประเทศจีนในสิ้นเดือนธันวาคม ค.ศ.1978 กิจกรรมทางด้านต่างๆ ของวัฒนธรรมจึงกลับมาสดใสอีกครั้ง กิจกรรมการทำฮัจญ์ของจีนจึงได้ฟื้นฟูอีกครั้ง
หลังจากที่จีนต้องหยุดการประกอบพิธีฮัจญ์ไปในช่วงปฏิวัติทางด้านวัฒนธรรม ปี ค.ศ. 1978 สมาคม อิสลามแห่งประเทศจีนได้รวบ รวมข้อมูลเพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนั้น โดยมีประเทศปากีสถาน อียิปต์และเยเมนเป็นผู้ประสานงาน แต่แล้วก็ถูกประเทศซาอุดิอาระเบียปฏิเสธการออกวีซ่า เพราะไม่เข้าใจสถานการณ์ในจีน หลังจากนั้นคณะตัวแทน จากประเทศซาอุดิอาระเบียเดินทางเยือนจีน โดยเดินทางไปเยือนพี่น้องมุสลิมในเมืองต่างๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางเจา กุ้ยหลินเป็นต้น พบว่าสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น นโยบายความเสรีภาพทางด้านศาสนาชัดเจน มัสยิดต่างๆ เปิดให้ผู้คนละหมาด ทางซาอุอาระเบียจึงยอมออกวีซ่าให้ กับประชาชนจีน เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในปี ค.ศ. 1980 สามารถกล่าวได้ว่าการประกอบพิธีฮัจญ์ของชาวมุสลิมจีนขาดช่วงไปเป็นเวลา 14 ปี

หลังจาก ปี ค.ศ.1980 นโยบาย พัฒนาทางด้านเศรษฐกิจมีความชัดเจน สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจีนดีขึ้น ประชาชนจีนสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้อย่างเสรี แต่ต้องเดินทางไปติดต่อยื่นขอวีซ่าที่ปากีสถาน ในปี ค.ศ.1984 มุสลิมจีนรวมตัวกันที่เมืองการาจีและอิสลามมาบัดของปากีสถานเป็นจำนวนถึง 800 กว่าคน ปัญหาที่ตามมาคือรายละเอียดต่างๆ เช่นซื้อตั๋วอย่างไร ยื่นวีซ่าที่ไหน เป็นต้น
ขณะ นั้นได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูตและสถานกงสุลจีนของปากีสถาน เนื่องด้วยเวลาที่กระชั้นชิด ในปีนั้นจึงมีผู้ที่สามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจยญ์เพียง 400 กว่าคน และในปีค.ศ. 1985 จำนวนมุสลิมจีนที่เดินทางไป ยื่นขอวีซ่าที่ประเทศจีนมีจำนวนมากถึง 2,200 กว่า คน ซึ่งทางการปากีสถานและจีนมองเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว จึงปรึกษาหารือกันโดยให้สมาคมอิสลามแห่งประเทศจีน จัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลผู้ประกอบการฮัจย์ในปากีสถานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ของรัฐบาลทั้งสองประเทศจึงอนุมัติให้สมาคมอิสลามแห่งประเทศจีน จัดตั้งคณะทำงานของจีนเป็นผู้ดูแลเรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์ของมุสลิมจีนใน ปากีสถานตั้งแต่ ค.ศ.1986
ช่วงปี ค.ศ.1986-1988 ระหว่าง ที่คณะทำงานของจีน ดำเนินเรื่องวีซ่าเพื่อให้มุสลิมจีนไปประกอบพิธีฮัจญ์นั้น พบปัญหาในรายละเอียดต่างๆ เช่นการรอที่นั่งของเที่ยวบินที่เหลือจากชาวปากีสถาน เพราะขณะนั้นจำนวนชาวปากีสถานที่เดินทางไปทำฮัจญ์ 8-9 หมื่น คน ถ้าลำไหนมีที่ว่างทางสายการบินถึงจะพิจารณาที่นั่งให้กับ ผู้โดยสารมุสลิมจีน ปัญหาที่ตามมาคือทำให้มุสลิมจำนวนมากที่ไปถึงประเทศซาอุดิอาระเบีย ล่าช้า ในปี ค.ศ.1989 คณะ ทำงานจึงได้เสนอเรื่องการเช่าเหมาลำผ่านสายการบินจีนบินไปยังประเทศซาอุฯ โดยตรง หลังจากประสานแล้วรัฐบาลซาอุดิอาระเบียตอบรับอย่างรวดเร็ว ในปีนั้นจึงมีมุสลิมจีนที่เดินทางไปทำฮัจญ์จำนวน 898 คน โดยทั้งหมดไปยื่นขอวีซ่าที่ปลายทาง (Arrival Visa)
เดือนกรกฎาคม ค.ศ.1990 เมื่อ จีนและ ซาอุดิอาระเบียมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางด้านการทูตอย่างเป็นทางการ ประเทศซาอุดิ อาระเบียได้จัดตั้งสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศจีน ณ กรุงปักกิ่ง และจีนได้ส่งทูตไปประจำสถานทูตจีนประจำซาอุดิอาระเบีย และมีการจัดตั้งสถานกงสุลจีนประจำเมืองเจดดาร์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 เป็นต้นมา หลังจากนั้นก่อน การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ทางการจีนได้มีการจัดอบรมผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ล่วงหน้า 3 วัน พร้อมทั้งให้ความสะดวกในการรับวัคซีน การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างๆ และใช้เวลาในการเดินทางจากกรุงปักกิ่งเพียง 10 ชั่วโมง สะดวกกว่าการเดินไปพักค้างที่ประเทศที่สองหรือประเทศที่สาม
เพราะ การดูแลของทางรัฐบาลจีนจึงทำ ให้การประกอบการฮัจญ์ของมุสลิมจีนมีความคล่องตัว และได้รับความสะดวกมากขึ้น ตั้งแต่การดำเนินนโยบายทางด้านความเสรีภาพทางด้านศาสนา ทางรัฐบาลจีนได้ประกาศอย่างชัดเจนในปี ค.ศ.2005-2007 ว่า การประกอบการฮัจย์ของมุสลิมในจีนนั้นให้ดำเนินการ โดยองค์กรศาสนาในระดับต่างๆ โดยมีสมาคมอิสลามแห่งประเทศจีนเป็นผู้ดูแลเพียงองค์กรเดียว ห้ามมิให้บริษัทเอกชนเป็นผู้จัดทัวร์ สำหรับการทำฮัจญ์และทางการจีนและซาอุดิ อาระเบียตกลงกันว่า ไม่รับรองวีซ่าสำหรับการทำฮัจญ์ของชาวจีนผ่านประเทศที่สาม ทั้งนี้ทางการจีนให้เหตุผลว่าเพื่อความสะดวกและ ง่ายต่อการปกครองดูแลและสะดวกในการจัดสวัสดิการต่างๆ แก่ผู้ที่เข้าร่วมประกอบพิธีฮัจญ์
ฮัจญี Wang Xuerong อายุ 71 ชาวเมืองเทียนจิน หลังจากที่ผ่านการประกอบพิธีฮัจญ์เมื่อปี ค.ศ.2010 เล่าว่า เขารอการทำฮัจญ์ของเขามาเป็นเวลาสิบปี เขาเล่าว่าเขาได้จัดทำหนังสือเดินทางได้ลงชื่อสมัครเพื่อทำฮัจญ์ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 แต่พลาดพลั้งเพราะโดนหลอก ระหว่างนั้นภรรยามีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงได้ยื่นเรื่องกับทางการอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ.2009 ซึ่งเป็นปีที่ไข้หวัดนกระบาด ทางการห้ามคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีเดินทาง เขาจึงได้ลงชื่อสมัครรอจนปี ค.ศ.2010 เขาจึงมีโอกาสเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ เขาเล่าว่า แม้ว่าตัวเขาจะรอความหวังนี้มาเป็นเวลา 10 ปี แต่ก็ไม่รู้สึก เสียใจกับการเฝ้ารอคอย เพราะก่อนเดินทางครั้งนี้คณะกรรมการประจำชุมชนและพี่น้องในชุมชนได้มีการจัด เลี้ยงอวยพรก่อนเดินทาง และยังมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ผู้เดินทางคนละ 200 ดอล ล่า ไม่ใช่ว่าเห็นความสำคัญของเงินจำนวนนี้ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญคือรัฐบาลให้ความสำคัญกับชนชาติส่วนน้อย และให้ความเคารพในเรื่องการศรัทธาของมุสลิมจีน
ระยะสองสามปีมา นี้ ทางการจีนพยายามจัดสรรความสะดวกแก่ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ จากที่ต้องเดินทางไปรวมตัวกันที่ กรุงปักกิ่ง ซึ่งทำให้ผู้เดินทางต้องไปรอและแวะพักที่ปักกิ่งก่อนเดินทาง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระทางด้านค่าใช้จ่ายและทำให้ต้องใช้เวลามาก ทางการจีนจึงอนุญาตให้มีเครื่องบินเหมาลำ จากเมืองต่างๆ ถึงเมืองมะดีนะย์โดยตรง ทั้งนี้ให้ออกเดินทางจากเมืองต่างๆ ที่มีมุสลิมมาก เช่น จากสนามบินของเมืองคุนหมิงของมณฑลยูนนาน สนามบินของเมืองหลานโจวมณฑล การซู สนามบินของเมืองอูรุมชีของมณฑล ซินเจียงเป็นต้น ซึ่งการกระทำของรัฐดังกล่าว ได้สร้างความสะดวกแก่ผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์มาก
ตามสถิติที่จำนวนมุสลิมจีนที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์กับทางการเมื่อปีค.ศ. 2001 มีเพียง 2,197 คน และปีค.ศ. 2011 นี้ มีจำนวนมุสลิมจีนที่เดินทางไปประกอบการฮัจญ์ดังกล่าว 13,700 คน ช่วงระยะเวลา 10 ปี จำนวนมุสลิมจีนเพิ่มมากขึ้น กว่า 6 เท่า ถ้าจำนวนมุสลิมจีนมีจำนวนการเพิ่มในระดับเดียวกันอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีมุสลิมจีนที่เดินทางไปทำฮัจญ์มากถึง 80,000 คน จำนวนนี้จะเป็นจริงเพียงไรนั้น ผู้เขียน คิดว่าขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการจีนเป็นสำคัญ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://www.musilin.net.cn/2010/1018/50675.html
http://www.tianjinwe.com/tianjin/tjwy/201101/t20110105_3071467.html
Ma Yunfu ,Pilgrimage to Mecca by Chinese Moslem after the founding of the people’s Republic of China,The Chinese Hui Nationality Study (3)