ผู้มาจากแผ่นดินที่สาบสูญ (จบ)

โดย : จิตติมา ผลเสวก

 เมื่อนึกถึงคนไทยพลัดถิ่นที่อาศัยอยู่    ทางภาคใต้ของไทย ซึ่งมักจะบอกว่าพวกเขานั้นเปรียบเสมือน คนที่มาจากแผ่นดินที่สาบสูญ ฉันไม่มีวันลืมดวงตาหลายคู่ที่ได้พบในหมู่บ้านมะลิวัลย์ หมู่บ้านที่ยังมีคนไทยอาศัยอยู่ตราบทุกวันนี้  ถ้าไม่บอกว่าเรายืนอยู่บน แผ่นดินประเทศพม่า มะลิวัลย์ก็ไม่ต่างจากหมู่บ้านทางใต้ทั่วๆ ไป มีวัด มีทุ่งนา มีชาวบ้าน  มีอาหารการกินอย่างวัฒนธรรมชาวใต้    มิผิดแผก       

เพียงแค่นั่งเรือโดยสารออกจากท่าเรือสะพานปลา อำเภอเมือง จังหวัดระนอง  ประมาณ 45 นาทีก็ถึงจุดหมายปลายทาง ที่เกาะสองหรือวิคตอเรียพอยท์ ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของมณฑลตะนาวศรีหรือ   ตะนิ้นตายี

 ดิวิชั่น สหภาพเมียนมาร์ 

เกาะสองเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง บนเส้นทางการท่องเที่ยวของจังหวัดระนอง นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางข้ามแดนจากระนองได้ 2 วิธี คือทำบัตรผ่านแดน ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือ วิธีนี้จะอยู่เกาะสองได้ไม่เกิน 7 วัน ออกไปเที่ยวได้ไม่ไกลไปกว่า 5 ไมล์จากตัวเมือง อีกวิธีคือขอวีซ่าจากสถานทูตพม่าที่กรุงเทพฯ ซึ่งสามารถไปเที่ยวได้ทั่วประเทศ   ในข้อแม้ว่าต้องเป็นสถานที่ซึ่งทางการ พม่าเปิดให้เข้าได้เท่านั้น

นักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ มาเกาะสองแบบไปกลับ เพื่อซื้อหาสินค้า  พื้นเมืองที่วางขายในตลาดใกล้ท่าเรือ หรือไปไหว้พระและชมอนุสาวรีย์บุเรงนองซึ่งตั้งอยู่บนเนิน เป็นจุดที่สามารถชมวิวเกาะสองจากมุมสูง ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มักจะเลยไปเที่ยวตามเกาะต่างๆ ของพม่า โดยผ่านทางบริษัทท่องเที่ยว บรรยากาศเกาะสองอวลไปด้วยกลิ่นอายพม่า โดยเฉพาะบริเวณตลาดและท่าเรือ  ซึ่งจอแจไปด้วยผู้คนและ  สินค้า

พม่าเรียกมะลิวัลย์ว่ามะลิยุน ในช่วงที่อังกฤษปกครองพม่าระหว่าง พ.ศ.2367 -2491 มะลิวัลย์มีสถานะเป็นศูนย์กลางการปกครอง   ขึ้นตรงต่ออำเภอมะริด มีหมู่บ้านอยู่ในเขต   การปกครอง 17 หมู่บ้านด้วยกัน พ.ศ. 2402 มะลิวัลย์มีประชากรราว 733 คน ต่อมากลายเป็นพื้นที่ทำเหมืองจึงมีคนอพยพเข้ามาอยู่เพิ่มขึ้น ข้อมูลในปี 2434 ระบุว่ามีถึง 7,719 คน   แต่อีก 10 ปีต่อมาประชากรลดลงเหลือ 5,265 คน ประชากรประกอบด้วยคนไทยซึ่งทำนาเป็นอาชีพหลัก ลูกครึ่งไทยจีนยึดอาชีพทำเหมือง  คนมุสลิมและชาวมอแกนทำประมงอยู่ตามชายฝั่ง

Thai diaspora2

หลังมีการทำเหมืองที่มะลิวัลย์ เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน จึงย้ายศูนย์กลางการปกครองไปอยู่ที่เกาะสอง ปัจจุบันมะลิวัลย์จึงมีสถานะเป็นตำบลอยู่ในอำเภอเกาะสอง จังหวัดมะริด ข้อมูลปัจจุบันที่ได้จากคนไทยมะลิวัลย์บอกว่า  ตำบลมะลิวัลย์มีอาณาเขตตั้งแต่หลัก 19 ไมล์ไปจนถึง 31 ไมล์ มีบ้านเรือนทั้งหมด 450 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 10,000 คน ประกอบด้วยชาวมอญ พม่า ทวาย และคนไทยเหลืออยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด

นอกจากคำบอกเล่าของคนไทยหลายคน ว่าเกาะสองเมื่อก่อนนี้เป็นของไทย  ข้อมูลในเอกสารเก่าแก่ของไทยหลายแห่งก็ กล่าวถึงเกาะสองกับมะลิวัลย์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของไทย

ยกตัวอย่างจดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2452 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้า    อยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จประพาสโดยทางเรือมาถึงที่ปากน้ำระนองได้ทรงบันทึกไว้ว่า

ทางฝั่งตะวันตกเป็นเขตแดนเมืองมริด  ตรงที่เรือจอดออกไปวิกตอเรียปอยต์กับ  เกาะวิกตอเรีย ซึ่งไทยเราเรียกว่าเกาะสอง เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอมลิวัน นามมลิวันนี้เจ้าคุณรัษฎาอธิบายว่ามีเรื่องเล่ากันมาว่า   ลำคลองลดเลี้ยวมากจึงเรียกว่าคลองหลีกสวรรค์   แต่เป็นธรรมดาคนไทยชาวใต้มักพูดตัดคำห้วนๆ ชื่อคลองจึงกลายเป็นหลิหวันไป   ภายหลังพม่าเรียกไม่ถูกเรียกเพี้ยนเป็น    มลิวน  จึงกลายเป็นมลิวันต่อมา

คนไทยมะลิวัลย์ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนพม่า กระทั่งเวลาไทยกับพม่าที่ต่างกันประมาณ 30 นาทีคนไทยที่นี่ก็ยังตั้งนาฬิกาตามเวลาประเทศไทย  เหมือนทุกสิ่งอย่างจะหยุดนิ่งไว้ นับตั้งแต่พวกเขาลืมตาตื่นพบว่าผืนดินที่เคยเรียกว่าประเทศไทยได้สาบสูญไป