คณะนักโบราณคดีจากอิตาลี ค้นพบประติมากรรมและภาพแกะสลักอายุย้อนหลังไปกว่า 1,700 ปี ที่แหล่งขุดค้นทางโบราณคดีของเมืองโบราณ บาซีรา หรือเมืองวชิรสถาน ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาสวาท ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศปากีสถาน เป็นภาพบอกเล่าพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะเพื่อเดินทางออก จากเมืองกบิลพัสดุ์ เพื่อออกบวช และประติมากรรมคล้ายคลึงกับเทพเจ้ากรีก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเป็นชุมทางที่มีความหลากหลายทางศาสนาและความเชื่อของ เมืองนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิกุษาณะ ที่เคยรุ่งเรืองสุดขีดระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1-4
เมืองบาซีราหรือที่ รู้จักกันในชื่อภาษาบาลีว่า วชิรสถาน ในปัจจุบันหลงเหลือเป็นเพียงซากปรักหักพังอยู่ใกล้กับหมู่บ้านบาริคต ใกล้กับเมืองเปชาวาร์ ทางตอนเหนือของปากีสถาน เมืองแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล เดิมทีตั้งใจจะให้เป็นเมืองเล็กๆ แต่ในเวลาต่อมาพัฒนาขึ้นกลายเป็นเมืองใหญ่แห่งหนึ่ง อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิกุษาณะ ซึ่งเมื่อรุ่งเรืองถึงขีดสุดนั้นมีอาณาเขตปกครองกว้างขวางตั้งแต่ดินแดนที่ เป็นประเทศอินเดียในปัจจุบันเรื่อยไปจนถึงดินแดนเอเชียกลาง
จักรวรรดิ กุษาณะเริ่มเสื่้อมลงในช่วงศตวรรษที่ 3 ในจังหวะเดียวกันกับที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นที่วชิรสถาน ซึ่งทำให้เมืองใหญ่แห่งนี้เสื่อมทรามลงตามลำดับ หลงเหลือเพียงซากปรักหักพังหลังจากถูกทิ้งร้างในตอนสิ้นศตวรรษที่ 3 ทีมขุดค้นทางโบราณคดีของอิตาลี เดินทางเข้าไปขุดค้นที่นี่ตั้งแต่ปี 1978 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ค่อยๆ เปิดเผยอาณาเขตของเมืองโบราณแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
ประติมากรรมเจ้า ชายสิทธัตถะแกะสลักขึ้นจากหินชีสต์ซึ่งเป็นหินสีแกมเขียว ทีมขุดค้นเชื่อว่าเดิมทีน่าจะเป็นประติมากรรมที่ทำขึ้นเพื่อใช้ตกแต่งวิหาร ที่เพิ่งค้นพบ เนื้อหาเป็นการบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตัดสินใจ เดินทางออกจากเมืองกบิลพัสดุ์ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าอยู่ในประเทศเนปาล เพื่อใช้ชีวิตอย่างสามัญชนเป็นการแสวงหาหนทางหลุดพ้นก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธ โคดมในที่สุด
ลูกา โอลิวิเอรี ผู้อำนวยการการขุดค้นครั้งนี้ระบุว่า สตรีสวมมงกุฎที่ปรากฏอยู่ในภาพแกะสลักนี้ด้วยนั้น น่าจะเป็นเทพีประจำเมืองกบิลพัสดุ์ที่กำลังพนมมือเป็นการถวายพระพรและแสดง การสักการะในการตัดสินใจของเจ้าชาย ด้านล่างซึ่งมีภาพชายประคองเท้าม้ากัณฐกะอยู่ คือ “ยักษา” อารักขาม้า ภาพชายอีกคนด้านหลังม้ากัณฐกะนั้นเชื่อว่าเป็นเทพอีกองค์กำลังโบกผ้า “อุตตาริยะ” หรือผ้าห่มพันคอไปมา
ด้านนอกวิหารที่เป็นลานกว้าง ทีมขุดค้นพบประติมากรรมอีกชิ้นที่มีอายุย้อนหลังไปเมื่อตอนที่เกิดแผ่นดิน ไหวสร้างความเสียหายให้กับวิหารแห่งนี้ ทำให้มีการบูรณะใหม่โดยใช้วัสดุไม่คงทนเช่นเสาไม้แทนที่ ทีมขุดค้นเชื่อว่าในเวลาเดียวกันลานของวิหารแห่งนี้ก็ถูกเปลี่ยนเป็นครัว ชั่วคราว เพื่อประกอบอาหารรองรับบ้านเรือนใกล้เคียง
โอลิวิเอรีชี้ว่า รูปแกะสลักอีกชิ้นเป็นภาพชายสูงวัยนั่งเหนือบัลลังก์ ผมยาวสลวยเป็นลอน มือข้างหนึ่งถือแก้วไวน์ อีกด้านประคองหัวแพะที่ถูกตัดมาวางไว้บนเข่า โอลิวิเอรีระบุว่า ประติมากรรมชิ้นนี้คล้ายคลึงกับภาพของเทพไดโอนีซุส เทพแห่งเหล้าองุ่นและน้ำเมาตามความเชื่อของกรีกนั่นเอง
ทั้งนี้นอกจากประติมากรรมดังกล่าวแล้ว ยังขุดค้นพบร่องรอยของสถูปล้อมรอบด้วยแนวเสา ซึ่งด้านบนสลักเป็นสิงโตมองลงมายังสถูปเป็นสี่แถว
วิหาร ทำนองนี้เคยมีบรรยายถึงไว้ในประวัติศาสตร์ พบว่ามีการสร้างขึ้นเป็นการทั่วไปในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 1-4 ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของจักรวรรดิกุษาณะนั่นเอง
ขอบคุณ/ที่มา มติชน